วิศวกรรมการผลิต มีความหมายตรงกับคำในภาษาอังกฤษว่า Production Engineering ซึ่งนิยมใช้กันในสหราชอาณาจักรและภาคพื้นยุโรป ส่วนในสหรัฐอเมริกาใช้คำว่า Industrial Engineering (วิศวกรรมอุตสาหการ) การจัดการศึกษาวิศวกรรมอุตสาหการในแบบของสหรัฐอเมริกานั้น เน้นหนักไปในด้านการจัดการให้มีการร่วมมือกันของกรรมวิธีการผลิตต่างๆ อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้ได้ปริมาณ คุณภาพและราคาตามที่ต้องการ โดยให้ความสนใจในรายละเอียดทางด้านวิศวกรรมน้อยมาก ภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการของมหาวิทยาลัย แทบทุกแห่งในประเทศไทยก็ได้จัดการศึกษาในแบบของสหรัฐอเมริกานี้ ส่วนการจัดการศึกษาวิศวกรรมการผลิตในสหราชอาณาจักรและภาคพื้นยุโรป เน้นหนักไปในด้านกรรมวิธีการผลิตก่อน หลังจากนั้นจึงพิจารณาถึงการจัดการ เพื่อให้ได้ปริมาณ คุณภาพและราคาตามที่ต้องการ การจัดการศึกษาในลักษณะนี้ต้องลงทุนสูงเพราะจำเป็นต้องมีเครื่องมือกลในการผลิต อุปกรณ์ช่วยการผลิตและเครื่องมือวัดต่างๆ ที่ใช้ในกรรมวิธีการผลิตจริง
โดยที่ปรัชญาการศึกษาของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือเน้นหนักไปในเชิงปฏิบัติ (Practice-oriented) ดังนั้นรูปแบบการศึกษาวิศวกรรมอุตสาหการของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ จึงเอนเอียงไปในแนวทางของสหราชอาณาจักรและภาคพื้นยุโรปด้วยเหตุนี้เอง จึงใช้ชื่อภาควิชาว่า “ภาควิชาวิศวกรรมการผลิต” เพื่อเน้นให้เห็นถึงความแตกต่างในปรัชญาการศึกษา ดังที่กล่าวไว้ข้างต้น
หลักสูตรวิศวกรรมการผลิตได้เปิดขึ้น โดยรองศาสตราจารย์ชาญ ถนัดงาน รักษาการในตำแหน่งหัวหน้าภาควิชา ร่วมกับ Dr.-Ing. H.W. Heitmann ผู้เชี่ยวชาญประจำโครงการ ซึ่งเป็นโครงการที่ได้รับความช่วยเหลือส่วนหนึ่งในด้านเครื่องมือ อุปกรณ์ ตำรา เอกสารและทุนการศึกษาจากรัฐบาลสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมัน ตามโครงการปรับปรุงคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (โดย GTZ)
โครงการความช่วยเหลือเริ่มขึ้นในเดือนตุลาคม 2524 ในลักษณะที่ภาควิชาวิศวกรรมการผลิตสังกัดอยู่ในภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล รับนักศึกษาแยกออกมาจากนักศึกษาวิศวกรรมเครื่องกลที่กำลังขึ้นชั้นปีที่ 3 จนกระทั่ง เดือนตุลาคม 2527 จึงได้รับอนุมัติให้จัดตั้งภาควิชาวิศวกรรมการผลิตอย่างเป็นทางการ การศึกษาภาควิชาวิศวกรรมการผลิตในคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ จัดการศึกษาในระดับปริญญาตรี เพื่อสนองความต้องการของอุตสาหกรรมการผลิตต่างๆ ในปี พ.ศ. 2532 มหาวิทยาลัยฯ ได้ขอความร่วมมือจากรัฐบาลเยอรมัน เพื่อจัดการศึกษาในสาขานี้ถึงระดับปริญญาโท ซึ่งได้เริ่มเปิดทำการเรียนการสอนได้ในปี 2535
ดั้งเดิม เรามีวิศวกรรมศาสตร์อยู่แล้วหลายสาขา ที่สามารถออกแบบ สร้าง และดำเนินการระบบต่าง ๆ ทางด้านวิศวกรรมได้ แต่ในการสร้าง การผลิต ที่ดำเนินการอยู่อาจไม่เป็น การทำให้เหมาะสมที่สุด (optimization) ดังนั้น ประเทศเราจึงยังขาดสาขาวิศวกรรมศาสตร์ที่มีความรู้ความสามารถในกรรมวิธีการผลิต เพื่อให้สามารถเลือกกรรมวิธีการผลิตที่เหมาะสมที่สุด โดยพิจารณาปัจจัยต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรรมวิธีการผลิตที่มีต้นทุนเหมาะสมกับปริมาณการผลิต เกณฑ์ความคลาดเคลื่อนของชิ้นส่วนที่เหมาะสมไม่ทำให้ต้นทุนการผลิตสูงเกินไป วางแผนการผลิต ควบคุมคุณภาพการผลิต ปรับปรุงและพัฒนาการผลิต ให้ได้ปริมาณ คุณภาพ และต้นทุน ตามที่ต้องการ
รศ.ชาญ ถนัดงาน
ในอดีตที่ผ่านมา นักศึกษาของภาควิชาส่วนหนึ่งที่ชอบกิจกรรมประดิษฐ์หุ่นยนต์ ซึ่งได้รวมตัวกับนักศึกษาจากภาควิชาอื่น สร้างหุ่นยนต์เพื่อเข้าแข่งขันในรายการต่างๆ โดยมีอาจารย์จากทางภาควิชาฯเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาทีม ใน พ.ศ. 2540 ทีม Tomahawk ได้ไปได้รางวัลชนะเลิศที่ประเทศญี่ปุ่นสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทยเป็นอย่างมาก หลังจากนั้นก็มีกลุ่มนักศึกษารุ่นสู่รุ่น ที่คอยเป็นตัวแทนของมหาวิทยาลัยไปแข่งขันหุ่นยนต์ในรายการต่างๆ จนเกิดเป็นชมรมหุ่นยนต์ IRap ของคณะวิศวกรรมศาสตร์ขึ้น ทีมของชมรมหุ่นยนต์ IRap คณะวิศวกรรมศาสตร์ได้สร้างชื่อเสียงโดยเฉพาะในรายการหุ่นยนต์กู้ภัย World RoboCup Rescue ในช่วงปลายปี 2554 ซึ่งปรากฎการณ์ที่ว่านักศึกษา PE เกือบยกทีมทำหุ่นยนต์กู้ภัยไปแข่ง เป็นตัวแทนประเทศไทยไปแข่งได้แชมป์โลกต่อเนื่องหลายสมัย ซึ่งในขณะนั้นอุตสาหกรรม 4.0 เทคโนโลยีหุ่นยนต์ยังไม่ค่อยเป็นที่นิยมอย่างแพร่หลายเหมือนอย่างในปัจุจบัน อีกทั้งยังไม่มีมหาวิทยาลัยไหนที่เปิดหลักสูตรวิศวกรรมหุ่นยนต์ฯ ขึ้น หลักสูตรวิศวกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ (Robotic Engineering & Automation System) ตั้งแต่ พ.ศ. 2555 โดยนำรากฐานของ PE ด้าน Automation เดิมมาเพิ่มเติมในศาสตร์วิทยาการหุ่นยนต์เข้าไป หลักสูตรนี้เป็นที่ต้องการ ตอบสนองกับความต้องการของอุตสาหกรรม 4.0 ในปัจจุบันได้เป็นอย่างดี
เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2564 ได้มีมติจากสภามหาวิทยาลัยปรับปรุงชื่อภาควิชาเดิมเป็น“วิศวกรรมการผลิตและหุ่นยนต์”เพื่อความเป็นอัตลักษณ์ของภาควิชาในยุคการผลิตสมัยใหม่ โดยนำอัตลักษณ์เดิมของ PE เดิมมาเพิ่มเติมศาสตร์และองค์ความรู้ในเทคโนโลยีการผลิตในยุคดิจิทัล (Digital Manufacturing Technology) อาทิ เพิ่มรายวิชาสมัยใหม่ด้าน AI, Data Science, Additive Manufacturing, Micro/Nano Manufacturing, Cyber Physical System, Reverse Engineering for Innovation และอีกหลายวิชาสมัยใหม่ได้บรรจุลงไปในทั้งสองหลักสูตรอย่างต่อเนื่องเพื่อสร้างเสริมศักยภาพให้นักศึกษาที่จบไปสามารถนำองค์ความรู้ไปต่อยอดในการทำงานในอนาคต ซึ่งเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมการผลิตของประเทศให้พัฒนาต่อไป
ความหมายโลโก้ภาควิชาในปัจจุบัน (เมื่อ 24 มกราคม 2567)